พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ระบุว่า เมื่อลูกจ้างเกษียณอายุ นายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชย สูงสุด 300 วัน หรือประมาณ 10 เดิอน คาดมีผลบังคับใช้ก่อนเดือนพฤษภาคม 2560
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการให้แก้ไขร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ที่ใช้งานมาเกือบ 20 ปีแลัว นับตั้งแต่ปี 2541 โดยกระทรวงแรงงานได้เสนอแก้ไข พ.ร.บ.เพื่อให้สามารถดูแลคุ้มครองแรงงานประเภทต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น
สาระสำคัญที่จะพูดถึงเรื่องของแรงงานวัยเกษียณคือ มีการเพิ่มมาตรา 118/1 โดยให้ถือว่าการเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้างตามมาตรา 118 วรรค 2 เพื่อให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง และกำหนดอายุของการเกษียณอายุไว้ที่ 60 ปีบริบูรณ์ และหากถึงเวลาเกษียณอายุหรือเลิกจ้างแล้ว นายจ้างกับลูกจ้างสามารถตกลงทำสัญญาใหม่ โดยแตกต่างจากสัญญาเดิมก็ได้
นอกจากนี้กฎหมายใหม่ยังระบุด้วยว่า ถ้าทำงาน 10 ปีขึ้นไปจะได้รับการชดเชยไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างเดือนสุดท้ายสูงสุด 300 วัน หรือประมาณ 10 เดือน ถ้าทำงานระหว่าง 6-10 ปี จะได้รับการชดเชยอย่างน้อย 8 เดือน, ทำงาน 3-6 ปี ต้องได้รับชดเชยอย่างน้อย 6 เดือน
และหากนายจ้างกำหนดการเกษียณไว้ที่อายุ 55 ปี หรือช่วงอายุใดก็ตาม ตามที่นายจ้างบริษัทนั้นๆ ได้เขียนไว้ให้ถือว่าเป็นการเลิกจ้าง ก็ต้องมีการจ่ายชดเชยด้วยเช่นกัน แต่หากนายจ้างไม่ได้ระบุเกี่ยวกับการเกษียณอายุไว้ในสัญญาจ้าง ให้ถือว่านายจ้างให้ลูกจ้างเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 60 ปีและได้รับเงินชดเชยตามที่กฎหมายกำหนดไว้
ซึ่งหากนายจ้างไม่ยอมทำตามก็ได้มีการกำหนดบทลงโทษไว้ ทั้งทางแพ่งและอาญากรณีที่นายจ้างไม่ยอมจ่ายเงินชดเชยเมื่อเกษียณอายุ โดยทางอาญาให้มีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท และจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนทางแพ่งให้นายจ้างรับผิดชอบเสียดอกเบี้ยผิดนัดชำระในการจ่ายค่าชดเชยในอัตรา 15% ต่อปี และถ้าจงใจผิดนัดโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ต้องเสียเงินเพิ่มในอัตรา 15% ในระยะทุก 7 วัน
ประเด็นสำคัญในเรื่องการคุ้มครองแรงงานก็เพื่อที่จะตอบรับการที่ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งแน่นอนว่าหากผู้สูงอายุไม่มีงานทำจะกลายเป็นภาระที่หนักอึ้งของสังคมอย่างแน่นอน ก็ต้องรอดูว่าพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่จะได้ประกาศออกมาใช้ตามกำหนดหรือไม่นะครับ
ภาพข้อมูล :: money.sanook.com,www.thairath.co.th
Comments are closed.