เจาะลึก ! 4 เรื่องต้องรู้หลังปลดล็อคใบกระท่อม

เจาะลึก ! 4 เรื่องต้องรู้หลังปลดล็อคใบกระท่อม

ทำความรู้จักใบกระท่อมกันก่อน

มาทำความรู้จักที่มาและลักษณะของพืชกระท่อมกันค่ะ

  • ลักษณะทั่วไป : พืชกระท่อมเป็นไม้ยืนต้น มีลำต้นสีน้ำตาล ใบสีเขียว เส้นใบเรียงเป็นคู่ตรงกันข้าม หน้าตาคล้ายๆใบฝรั่งแต่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว ก้านใบมีสีแดงหรือสีเขียว อยู่ในวงศ์เข็ม (Rubiaceae) เช่นเดียวกับกาแฟ
  • พบได้ที่ไหนบ้าง : เราสามารถพบพืชกระท่อมได้ในที่ที่มีความชื้นสูง อย่างในเขตร้อนชื้นของทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทวีปแอฟริกา ในประเทศไทยจะพบมากแถวภาคใต้และภาคกลางบางจังหวัด
  • แล้วพืชกระท่อมมีกี่ประเภทกันนะ : พืชกระท่อมมี 2 ประเภทหลักๆค่ะ คือ
    ประเภทก้านใบสีแดงและก้านใบสีเขียว แบ่งออกเป็น 3 สายพันธุ์หลักๆ คือ พันธุ์ก้านแดง พันธุ์แตงกวา(ก้านเขียว) และพันธุ์ยักษาใหญ่(ใบมีขนาดใหญ่) แต่อาจจะมีมากกว่านั้นแล้วแต่ท้องที่
  • นอกจากกระท่อมแล้ว มีชื่อเรียกอื่นอีกไหม ? : พืชกระท่อมมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Mitragyna Speciosa (Korth.) Havil. บางท้องที่ก็เรียกว่า ท่อม อีถ่าง โคกกระทุ่ม กระทุ่มทาย อีด่าง อีแดง กระอ่วม หรือในประเทศมาเลเซียเรียกว่า ketum ค่ะ
  • สารสกัดสำคัญ : ในใบกระท่อม มีสารสกัดที่สำคัญ คือ Mitragynine ซึ่งเป็นสารอัลคาลอยด์ (Alkaloids) ที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง มีสรรพคุณในการรักษาอาการปวดคล้ายมอร์ฟีนเลยค่ะ แต่ว่าแรงน้อยกว่า

นานาสรรพคุณ

จากผลการวิจัยในหลายที่พบว่าพืชกระท่อม นอกจากจะรับประทานเพื่อผ่อนคลายตามวิถีชาวบ้านแล้ว พืชกระท่อมยังมีคุณประโยชน์อีกมากมาย เช่น

    • ระงับอาการปวด เพราะมีสาร Mitragynine ที่ไปออกฤทธิ์ต่อระบบ Opioid Receptor ซึ่งทำให้อาการปวดบรรเทาลงได้ และเป็นที่มาของการใช้เพื่อให้สามารถทำงานได้นานขึ้น ไม่ปวดไม่เมื่อย หรือที่เรามักได้ยินกันว่า ทนแดดทนลม นั่นเองค่ะ
    • รักษาอาการลำไส้ติดเชื้อ หรือท้องเสีย ทำให้ถ่ายเหลวน้อยลง ลดการบิดตัวของลำไส้
    • ลดความอยากอาหาร
    • ช่วยทำให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น
    • ใช้เป็นหนทางในการรักษาอาการติดยาเสพติดชนิดอื่น หรือใช้ถอนยา (Withdrawal Symptoms)

แต่ทั้งนี้บางสรรพคุณก็ยังอยู่ในขั้นของการทดลองนะคะ ไม่ได้หมายความว่าใช้พืชกระท่อมแล้วจะทำให้อาการเจ็บป่วยต่างๆหายไปทันที ทางที่ดีแนะนำให้ปรึกษาแพทย์และรักษาด้วยยาที่ตรงตามอาการและทำตามคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะปลอดภัยมากกว่าค่ะ

ใช้มากไปก็มีโทษนะ

แม้พืชกระท่อมจะมีสารพัดประโยชน์ แต่รู้ไหมคะว่าพืชกระท่อมเองก็มีผลข้างเคียงหรือโทษที่อันตรายอีกด้วย หากเราใช้ผิดวิธีหรือใช้มากเกินไป ตัวอย่างเช่น

  • เกิดอาการติดยา หรือใช้ยาในทางที่ผิด (Abuse Potential Effects) อย่างช่วงที่ใช้ 5-10 นาทีแรกก็จะมีอาการสดชื่น กระปรี้กระเปร่า หลังจากนั้นก็จะอยากใช้เพิ่มขึ้น จนติดเป็นนิสัย และใช้ในปริมาณที่มากเกินพอดี ซึ่งหลายงานวิจัยก็ระบุว่าพืชกระท่อมมีผลข้างเคียงที่อันตราย เช่น ทำให้มีอาการฉุนเฉียว ปวดกล้ามเนื้อ ทำงานไม่ได้ หรือพูดง่ายๆว่าจากที่จะกินเพื่อรักษาอาการ กลับกลายเป็นอาการหนักขึ้นกว่าเดิมและไม่หายนั่นเองค่ะ
  • ท้องผูก
  • ปัสสาวะบ่อย
  • ผิวหนังมีสีเข้มกว่าปกติ ผิวหนังแห้ง
  • อ่อนเพลีย
  • ไม่อยากอาหารและน้ำหนักลดลงมาก (Anorexia)

แล้วจะใช้อย่างไรให้ปลอดภัยและถูกกฎหมายล่ะ

พืชกระท่อมนี้สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย ด้วยการใช้ในปริมาณน้อยๆ นานๆครั้ง สัก1-3 ใบก็พอแล้วค่ะ จะเคี้ยวใบสด เหมือนเคี้ยวหมาก หรือบดใบแห้งละลายน้ำดื่มก็ได้ แต่ต้องระวังรูดก้านใบออกด้วยนะคะ ไม่เช่นนั้นอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดผังผืดภายในลำไส้ หรืออาการ “ถุงท่อม” ทำให้ปวดท้องได้

นอกจากนี้ทางตำรับยาพื้นบ้านเราสามารถทานคู่กับใบชุมเห็ดเทศหรือบีบมะนาวตามด้วยก็ได้ค่ะ เพื่อลดผลข้างเคียงของใบกระท่อมอย่างอาการท้องผูก แต่ไม่แนะนำให้ใช้รักษาอาการแทนการพบแพทย์หรือแทนยาตามอาการโดยตรงนะคะ เนื่องจากการใช้ที่ผิดวิธีหรือไม่เหมาะสมกับตัวเรา จะทำให้เกิดการติดได้ง่ายและมีผลข้างเคียงที่ค่อนข้างอันตราย โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคประสาท หรือผู้ที่ตั้งครรภ์อยู่ ไม่ควรใช้หรือควรใช้ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญค่ะ

ส่วนเรื่องของกฎหมาย เดิมกระท่อมเคยถูกบัญญัติให้เป็นยาเสพติด (ยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 7) เราไม่สามารถใช้หรือบริโภคได้อย่างเสรี แต่ว่าปัจจุบันได้มีการนำเอาพืชกระท่อมออกจากนิยามยาเสพติดไปแล้ว ทำให้เราสามารถใช้ได้โดยไม่ผิดกฎหมายดังกล่าว แต่ว่าเราก็ต้องพิจารณาตามกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการใช้หรือบริโภคนั้นด้วย อย่างตอนนี้ก็กำลังมีการร่างกฎหมายควบคุมการใช้พืชกระท่อมอยู่ ข้อก็ต้องติดตามกันต่อไปค่ะ แอบกระซิบว่าการใช้ที่ผิดวิธี เช่น นำไปผสมกับสารอื่นๆจนเกิดเป็นสารเสพติดชนิดอื่นขึ้นมา ก็ยังคงมีความผิดตามกฎหมายอยู่ดีนะคะ ต้องระวังเลย!

ถึงแม้ว่าใบกระท่อมจะมีสรรพคุณบางอย่างที่สามารถช่วยลดอาการเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าได้ หรือแม้กระทั่งการรักษาโรคบางอย่าง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะละเลยเรื่องการดูแลสุขภาพนะคะ โดยเฉพาะการวางแผนเรื่องประกันสุขภาพไว้ เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น เราก็ยังอุ่นใจที่มีประกันสุขภาพไม่ต้องมากังวลเรื่องค่าใช้จ่ายนะคะ ศึกษาประกันสุขภาพเพิ่มเติมได้ที่นี่ ประกันสุขภาพเหมาจ่าย