เกิดเหตุรถชนกันเองกับคนในครอบครัว เคลมประกันได้หรือไม่?
กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์มีเงื่อนไขที่ระบุท้ายกรมธรรม์ยกเว้นความคุ้มครอง ในหมวดความเสียหายต่อทรัพย์สินของผู้เอาประกันภัยว่า “จะไม่ให้ความคุ้มครองทรัพย์สินที่ผู้เอาประกันภัย ผู้ขับขี่ที่เป็นฝ่ายต้องรับผิดตามกฎหมาย คู่สมรส บิดา มารดา บุตรของผู้เอาประกันภัยหรือผู้ขับขี่นั้นเป็นเจ้าของ หรือเป็นผู้เก็บรักษา ควบคุม หรือครอบครอง” ส่วนเกณฑ์ในการเรียกร้องสินไหมทดแทนเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์
ตัวอย่าง นายจันทร์ ขับรถชนรถของนางอังคาร ซึ่งเป็นคุณแม่ของนายจันทร์เอง ทั้งนี้นายจันทร์ ทำประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 กับบริษัท X ไว้ นายจันทร์ สามารถเรียกร้องค่าเสียหายเฉพาะในส่วนของรถตนเองได้ เพราะประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 จะคุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าผู้เอาประกันภัยเป็นฝ่ายผิด หรือฝ่ายถูก แต่ไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนของรถนางอังคารได้ เนื่องจากเป็นมารดาของนายจันทร์ ตามเงื่อนไขที่ยกเว้นไว้ท้ายกรมธรรม์
ขณะเดียวกัน หากนายจันทร์ ทำประกันภัยรถยนต์ประเภท 3 กับบริษัท X ไว้ จะไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้ทั้งของนายจันทร์ และของนางอังคาร เพราะประกันภัยรถยนต์ประเภท 3 จะคุ้มครองความเสียหายของบุคคลภายนอกเท่านั้น ซึ่งกรณีนี้ นางอังคาร เป็นมารดาของนายจันทร์ จึงไม่ถือเป็นบุคคลภายนอก จึงไม่สามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้ตามข้อยกเว้นที่ระบุไว้
แน่นอนว่าการเกิดอุบัติเหตุสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ว่าจะเกิดอุบัติเหตุกับบุคคลในครอบครัว หรือกับบุคคลภายนอก เราไม่สามารถควบคุมได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือเราควรเพิ่มความระมัดระวังในการขับรถ ลดความประมาท เหล่านี้จะช่วยให้อุบัติเหตุลดลงได้อย่างแน่นอนนะครับ