รู้ไหม? บทลงโทษการเมาแล้วขับ มีอัตราโทษปรับอย่างไร?
หลายครั้งที่เราดูข่าวอุบัติเหตุรถยนต์ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่นั้นสืบเนื่องมาจากการเมาแล้วขับ ส่งผลให้มีทั้งคนเจ็บและคนตาย ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของแต่ละเหตุการณ์
ข่าวล่าสุดที่มีผลกระทบกับความรู้สึกของคนไทยไม่ใช่น้อย คือเหตุการณ์คนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ก่อคดีเมาแล้วขับรถชนนักเรียนชาวญี่ปุ่นเสียชีวิตด้วยกันถึง 2 ราย นอกจากนี้ คนขับยังไม่มีใบอนุญาตขับขี่สากลอีกด้วย ทำให้ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากออกมาวิพากษ์วิจารณ์การกระทำดังกล่าวกันอย่างแพร่หลาย ถึงขั้นมีการเสนอแนะให้รัฐบาลญี่ปุ่นควรยกเลิกวีซ่าให้กับทางคนไทยอีกด้วย เหตุที่ทำให้เกิดการแสดงความเห็นคิดที่เป็นไปอย่างรุนแรงนี้ เพราะกฎหมายในประเทศญี่ปุ่นมีความเข้มงวดเรื่องการเมาแล้วขับเป็นอย่างมาก ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งในกรณีเช่นนี้ การเมาแล้วขับจนเกิดอุบัติเหตุในประเทศญี่ปุ่น มีโทษถึงขั้นประหารชีวิต
ในประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน หลายครั้งที่อุบัติเหตุทางรถยนต์ เกิดจากการเมาแล้วขับ ซึ่งส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต และทรัพย์สินของผู้อื่น จะดีกว่าไหม หากวันนี้เรามาทราบถึงข้อกฎหมายเกี่ยวกับบทลงโทษของการเมาแล้วขับ ซึ่งตามนโยบายของภาครัฐ มีข้อกำหนดไม่อนุญาต ให้ผู้ขับรถตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2550 ( ฉบับที่ 7 ) ที่มีระดับแอลกอฮอล์เกิน 50 มิลลิกรัม ขับรถบนถนน ซึ่งมีโทษส่งฟ้องศาลต้องจำคุก ปรับ คุมประพฤติ พักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถ แล้วแต่ระดับความผิด ที่ผู้กระทำความผิดได้ก่อขึ้น โดยกำหนดบทลงโทษไว้ดังนี้
โทษผู้ขับขี่ขณะเมาสุรา (ตรวจพบแอลกอฮอล์เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์)
ความรุนแรง | จำคุก | ปรับ | พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ |
– เมาแล้วขับ | ไม่เกิน 1 ปี หรือ | ปรับ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับและ |
ไม่น้อยกว่า 6 เดือนหรือเพิกถอนใบ อนุญาต |
– เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ | 1-5 ปี และ | ปรับ 20,000-100,000 บาท และ | ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาต |
– เป็นให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส | 2-6 ปี และ | ปรับ 40,000-120,000 บาท และ | ไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาต |
– เป็นให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย | 3-10 ปี | ปรับ 60,000-200,000 บาท และ | เพิกถอนใบอนุญาต |
จาก พ.ร.บ. จราจรทางบกฯ ทำให้เราทราบว่า ผู้ขับขี่รถยนต์ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์เกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็น ถือว่าเมาแล้วขับ ซึ่งมีความผิดต้องติดคุก ถูกปรับ หรือบำเพ็ญประโยชน์ แต่หากเป็นเรื่องความคุ้มครองของประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ทั้งประเภท 1, 2 และ 3 กรณีเมาแล้วขับนั้น กฎหมายยังคงกำหนดให้ได้รับความคุ้มครองจากบริษัทที่รับประกันภัย หากเกิดอุบัติเหตุแล้วตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ได้ไม่เกิน 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ แต่หากเกินกว่านี้ประกันภัยสามารถปฏิเสธความคุ้มครองได้
ทำไมกฎหมายจราจร กับกฎหมายประกันภัยจึงกำหนดปริมาณแอลกอฮอล์ไว้ไม่เท่ากัน ?
เพราะ พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ เป็นกฎหมายที่มีจุดประสงค์เพื่อกำหนดให้ผู้ขับขี่ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด และป้องปรามคนเมาที่คิดจะขับขี่ อีกทั้งเพื่อป้องกันอุบัติเหตุไม่ให้เกิดขึ้น จึงกำหนดปริมาณแอลกอฮอล์ไว้เป็นขั้นต่ำคือ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์หากเกินนี้จะมีความผิดและมีโทษตามกฎหมาย
ส่วนกรณีของกฎหมายประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดกฎเกณฑ์ในการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการประกันภัยอย่างเต็มที่ จึงกำหนดปริมาณแอลกอฮอล์ไว้สูงพอสมควร โดยกำหนดปริมาณแอลกอฮอล์ไว้ไม่เกิน 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หากเกินกว่าปริมาณที่กำหนดดังกล่าว ก็จะไม่ได้รับความคุ้มครองจากบริษัทประกันภัย
แต่ในส่วนของประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดความคุ้มครองขั้นพื้นฐานที่ผู้ประสบภัยจากรถควรได้รับ เพื่อเป็นการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น จึงไม่มีข้อยกเว้นในเรื่องของเมาแล้วขับ ไม่ว่าจะตรวจพบปริมาณแอลกอฮอล์เพียงใดก็ตาม ประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) มีหน้าที่จ่ายค่าเสียหายให้กับผู้ประสบภัยทุกกรณี