ค่าเสียหายส่วนแรก (Excess และ Deductible) คืออะไร?
เมื่อพูดถึงเรื่องการเคลมประกันภัยรถยนต์ คำถามที่มักเกิดขึ้นอยู่เสมอคือ เราต้องจ่ายเงินเพิ่มหรือไม่ สำหรับการแจ้งเคลมที่เกิดขึ้นแต่ละครั้ง ในเรื่องนี้บริษัทประกันภัยทุกแห่งได้กำหนดหลักเกณฑ์การเรียกเก็บเงินที่เรียกว่า “ค่าเสียหายส่วนแรก” เอาไว้เป็นบรรทัดฐานเดียวกันตามที่คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้กำหนดหลักเกณฑ์เอาไว้ โดยเราจะมาทำความเข้าใจกันถึงวัตถุประสงค์ในการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในส่วนนี้กันก่อน เพื่อจะได้ทำความเข้าใจในรายละเอียดได้ง่ายขึ้น
ค่าเสียหายส่วนแรก
การเรียกเก็บค่าเสียหายส่วนแรกเกิดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันผู้ที่แจ้งเคลมโดยไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นจริง เพื่อหวังซ่อมรถกับบริษัทประกันภัย หรือผู้ที่ขับรถด้วยความประมาทหรือไม่ใช้ความระมัดระวังมากพอ เพราะคิดว่าหากเกิดความเสียหายขึ้นกับรถก็สามารถแจ้งเคลมกับบริษัทประกันภัยเพื่อซ่อมรถเมื่อใดก็ได้ ซึ่งเป็นค่านิยมและความเข้าใจที่ผิด โดยหากมีการกระทำในลักษณะนี้เกิดขึ้นมากๆ จะส่งผลให้ยอดค่าสินไหมของประกันภัยรถยนต์ทั้งระบบสูงขึ้น จนบริษัทประกันภัยต้องปรับอัตราเบี้ยให้สูงขึ้นตามไปด้วย ทำให้ผู้เอาประกันภัยส่วนใหญ่ต้องแบกรับภาระเบี้ยประกันภัยที่สูงขึ้น ซึ่งจะไม่เป็นธรรมกับผู้เอาประกันภัยรายอื่น ค่าเสียหายส่วนแรกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
ค่า Excess
ค่าเสียหายส่วนแรกที่เป็นเงื่อนไขถูกกำหนดไว้ตายตัวสำหรับผู้เอาประกันภัยทุกราย เป็นค่าเสียหายที่ไม่ได้เกิดจากการชนหรือคว่ำ หรือชนแต่หาคู่กรณีไม่ได้ หรือเราไม่ได้ขับรถชนเอง แต่ไม่สามารถระบุรายละเอียดความเสียหายที่ชัดเจนพอที่จะให้บริษัทประกันไปไล่เบี้ยหาต้นเหตุจนพบตัวคู่กรณีที่ต้องรับผิดชอบได้ เราจะต้องจ่ายค่าเสียหายส่วนแรก 1,000 บาท ต่อเหตุการณ์สำหรับความเสียหายต่อตัวรถยนต์ของเรา เช่น
- ถูกมุ่งร้าย กลั่นแกล้ง แล้วหาคู่กรณีไม่ได้ เช่น รถถูกขีดข่วน
- ความเสียหายของพื้นผิวสีรถ (ตัวรถและอุปกรณ์ในรถไม่เสียหาย) เช่น หินกระเด็นใส่ เฉี่ยวกิ่งไม้/สายไฟ/ลวดหนาม ขับรถตกหลุม / ครูดพื้นถนน เหยียบตะปูหรือของมีคมหรืออะไรที่ทำให้ยางฉีก ละอองสีปลิวมาโดน / วัสดุหล่นมาโดน
- ระบุสาเหตุที่ทำให้รถเสียหายไม่ได้ รวมถึงระบุวัน เวลา สถานที่เมื่อรถเกิดความสียหายที่ชัดเจนไม่ได้ เช่น กระจกรถแตก ถูกสัตว์กัดแทะหรือขีดข่วน
- ถูกวัสดุในตัวรถกระแทก
- ไถลตกข้างทางแต่ยังไม่พลิกคว่ำ
- ชนกับพาหนะอื่นแต่แจ้งรายละเอียดคู่กรณีไม่ได้
หรือสามารถอธิบายง่ายๆ คือ ถ้าไม่ต้องการจ่าย ต้องสามารถระบุได้ชัดเจนว่าเป็นการชนแล้วทำให้เกิดความเสียหายถึงกับ บุบ แตก ร้าว หรือระบุเหตุความเสียที่ชัดเจนพอที่จะให้บริษัทประกันไปไล่เบี้ยหาต้นเหตุจนพบคนที่ต้องรับผิดชอบได้ เช่น
- ชนกับพาหนะอื่นและแจ้งรายละเอียดคู่กรณีให้ได้
- ชนกับที่ยึดแน่นตรึงตรากับพื้นดิน
- เสา / ประตู / เสาไฟฟ้า / กำแพง / ป้ายจราจร
- ทรัพย์สินอื่นที่ยึดแน่นตรึงตรากับพื้นดิน
- ชนต้นไม้ยืนต้น / ขอบถนน / ราวสะพาน
- ชนกองดิน หรือชนหน้าผา
- ชนคน / สัตว์
- รถพลิกคว่ำ
ค่า Deductible
ค่าเสียหายส่วนแรกที่กำหนดขึ้นโดยผู้เอาประกันภัยเองหรือบริษัทประกันภัยโดยมีผลกับผู้เอาประกันภัยเฉพาะราย คือ ความเสียหายส่วนแรกโดยสมัครใจ โดยเป็นการตกลงกันระหว่างบริษัทประกันภัยกับผู้เอาประกัน โดยบริษัทจะยินยอมลดเบี้ยประกันลงเท่ากับค่าเสียหายส่วนแรกที่เราสมัครใจจ่ายเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นในแต่ละครั้ง โดยการตกลงกับบริษัทประกันภัยว่า หากเกิดอุบัติเหตุเป็นฝ่ายผิด หรือไม่มีคู่กรณีแต่ละครั้ง ผู้เอาประกันจะยินยอมจ่ายค่าเสียหายในส่วนแรกตามจำนวนที่กำหนดไว้ ซึ่งผู้เอาประกันเองก็จะได้สิทธิจ่ายเบี้ยประกันลดลงตามจำนวนที่กำหนดไว้เช่นกัน
ตัวอย่างเช่น เราทำประกันภัยกับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งโดยมีการกำหนดค่าเบี้ยไว้ที่ 18,000 บาท โดยตกลงกันให้กำหนดค่าเสียหายส่วนแรกไว้ในกรมธรรม์ 3,000 บาท เราก็จะได้ส่วนลดค่าเบี้ยประกันภัย 3,000 บาท ดังนั้นจะเหลือค่าเบี้ยที่เราต้องจ่ายจริง 15,000 บาท
ต่อมาหากเกิดอุบัติเหตุและเราเป็นฝ่ายผิดหรือไม่สามารถแจ้งคู่กรณีได้ เมื่อบริษัทประเมินความเสียหายของรถเราแล้ว อยู่ที่ 10,000 บาท ดังนั้น เราต้องจ่าย “ค่าเสียหายส่วนแรก” เป็นจำนวนเงิน 3,000 บาท ตามที่ได้ทำข้อตกลงไว้ในกรมธรรม์ ส่วนค่าเสียหายที่เหลืออีก 7,000 บาท บริษัทประกันภัยจะเป็นฝ่ายรับผิดชอบ แต่หากความเสียหายไม่เกิน 3,000 บาท ผู้เอาประกันก็จะเป็นผู้รับเองตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง
จะเห็นได้ว่าการกำหนดค่าเสียหายส่วนแรกนั้น มีทั้งประโยชน์คือการได้ส่วนลดค่าเบี้ย และมีโทษคือหากเกิดความเสียหายขึ้น ผู้เอาประกันก็มีความรับผิดชอบในค่าเสียหายส่วนแรกที่กำหนดนั้น เงื่อนไขนี้เป็นการกำหนดทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้เอาประกันภัย
ดังนั้นก่อนที่จะตกลงทำสัญญาใดๆ ที่จะมีผลผูกพันตัวเรานั้น เราควรศึกษาข้อสัญญาและเงื่อนไขต่างๆ ในกรมธรรม์ให้เข้าใจก่อนตกลงทำสัญญา โดยเฉพาะสัญญาประกันภัยที่นับวันจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับตัวเรามากขึ้นในชีวิตประจำวัน
Comments are closed.