สารบัญ
เมื่อเกิดเหตุรถชนบนท้องถนน หลายคนคงเป็นเหมือนกันคือ “ตกใจ” ทำอะไรไม่ถูกว่าต้องทำอะไรก่อน เพราะมัวแต่ตกใจ วันนี้ทางโปรประกันจะขอมาแนะนำขั้นตอนการแจ้งเคลมกรณีเกิดอุบัติเหตุ เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์จริงขึ้นมาเราจะได้ไม่ตกใจและทำตามขั้นตอน โดยไม่ยุ่งยาก ซึ่งจะมีอะไรบ้างไปดูกันเลยค่ะ
1. มีสติ
ข้อนี้ถือว่ามีความสำคัญมากที่สุด หากเราไม่มีสติ เราจะคิดไม่ออกเลยว่าถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้สิ่งที่เราจะทำต่อไปคืออะไร ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาให้เรามีสติอยู่เสมอใจเย็นๆและค่อยๆคิด เมื่อเรามีสติแล้วเราจะคิดวิธีการแก้ไขปัญหาได้ดี
2. ติดต่อบริษัทประกัน
หาเบอร์บริษัทประกันที่เราทำประกันไว้เพื่อแจ้งเหตุ จริงๆอยากแนะนำให้บันทึกเบอร์ไว้ในโทรศัพท์มือถือเพราะเวลาเกิดฉุกเฉินเราจะได้ไม่ต้องนั่งค้นหาเบอร์โทรเพราะจะทำให้เสียเวลา อีกที่หนึ่งที่มีเบอร์ติดต่อของประกัน คือสติ๊กเกอร์ที่บริษัทประกันให้มาพร้อมกับหนังสือกรมธรรม์ เพื่อนำไว้แปะด้านซ้ายมือของกระจกรถถือว่าสะดวกมากเพราะเราเห็นอยู่ตลอดเวลา
3. แจ้งข้อมูลรถยนต์
เมื่อโทรแจ้งเหตุแล้ว call center ของประกันจะถามข้อมูลรถยนต์ของเรา ถ้าไวที่สุดคือแจ้งทะเบียนรถยนต์ หรือ เลขกรมธรรม์ เพื่อค้นหาข้อมูลการต่อประกันภัยหลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะสอบถามว่าผู้ขับขี่คือใครและมีความสัมพันธ์อย่างไรกับเจ้าของรถ
4. บริษัทประกันรับแจ้งเหตุ
ทางเจ้าหน้าที่จะสอบถามข้อมูลการเกิดเหตุ เช่น
มีคู่กรณีหรือไม่,เป็นฝ่ายถูกหรือผิด,เกิดเหตุที่จุดไหน เมื่อทราบรายละเอียดแล้วทางเจ้าหน้าที่จะส่งเรื่องเพื่อให้ทางเจ้าหน้าที่สำรวจภัย(Surveyor) ออกไปตรวจความเสียหาย ซึ่งการออกไปตรวจความเสียหายจะมีการแจ้งเคลม 2 ประเภท
1. เคลมสด คือ เกิดเหตุแล้วแจ้งทันที ณ เวลานั้น อาจจะมีคู่กรณีหรือไม่มีก็ได้
2. เคลมแห้ง คือ แจ้งเคลมหลังเกิดเหตุไปแล้ว อาจจะ 1 วัน หรือ หลายเดือนที่ผ่านมา
แต่ทางที่ดีอยากแนะนำให้แจ้งเคลมโดยทันทีดีกว่าเพราะเรายังสามารถจำเหตุการณ์และสถานที่ได้ว่า เกิดเหตุเมื่อไหร่คู่กรณีเป็นใคร เพราะการแจ้งเคลมหลังเกิดเหตุบางทีข้อมูลที่แจ้งประกันเราอาจจะจำไม่ได้ หรือ รายละเอียดไม่ครบหรือไม่สามารถระบุคู่กรณีได้ ตามเงื่อนไขประกันจะมีการเรียกเก็บค่าเสียหายส่วนแรก (Excess) ที่หลายๆคนสงสัยว่าทำไมต้องเสียนั่นเอง ทั้งๆที่ทำประกันชั้น 1
5. เจ้าหน้าที่ตรวจสอบความเสียหาย
หลังจากบริษัทประกันภัยรับเรื่องเคลมจากเราแล้วจะประสานงานให้ทางเจ้าหน้าที่สำรวจภัย(Surveyor) ออกมาตรวจสอบความเสียหาย ถ่ายรูป พร้อมเปิดใบเคลมให้กับเราเพื่อนำไปยื่นให้กับทางอู่ หรือ ศูนย์คู่สัญญาของทางประกันภัยที่เราทำประกันไว้ ตามที่กรมธรรม์ระบุ ถ้าคู่กรณีไม่มีประกันภัยจะทำอย่างไร กรณีนี้หากเราเป็นฝ่ายถูกและคู่กรณียอมรับที่จะชดใช้ค่าเสียหายแบบนี้ต้องลงบันทึกประจำวัน เพื่อให้ทางประกันภัยดำเนินการเรียกเก็บค่าสินไหมกับทางคู่กรณี
6. เอกสารที่ต้องใช้ยื่นในการซ่อมรถ
1.ใบเคลม(ตัวจริง)
2.สำเนากรมธรรม์
3.สำเนาจดทะเบียนเล่ม
3.ใบขับขี่
4.สำเนาบัตรประชาชน
7. นำรถเข้ารับการจัดซ่อม
เมื่อนำเอกสารยื่นซ่อมรถแล้วทางศูนย์ จะแจ้งคิวซ่อมรถและตรวจสอบความเสียหายเพราะการเกิดเหตุแต่ละครั้งเราจะเห็นความเสียหายแต่ภายนอก ดังนั้นจึงต้องมีการตรวจสอบว่ามีความเสียกหายเพิ่มเติมหรือไม่ เมื่อเสร็จเรียบร้อยทางศูนย์ก็จะนัดวันรับรถ
8. เรียกร้องค่าขาดผลประโยชน์จากการใช้รถ
(เฉพาะกรณีที่เป็นฝ่ายถูกเท่านั้น) หากเราเป็นฝ่ายถูกนอกจากที่คู่กรณีจะซ่อมรถให้เราแล้ว เรายังสามารถเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถได้อีกด้วย ซึ่งกรณีนี้มีเงื่อนไขอยู่ว่า การชดเชยค่าขาดประโยชน์จะอยู่ที่วันละ 500 บาท นับตั้งแต่วันที่รถพร้อมซ่อมจนถึงวันรับรถ ไม่ใช่นับจากวันที่รถโดนชน ยกเว้นว่ารถไม่สามารถวิ่งได้เลยตั้งแต่วันเกิดเหตุ (กรณีนี้ก็จะนับตั้งแต่วันที่รถไม่สามารถวิ่งได้จนถึงวันซ่อมเสร็จ) และต้องเป็นฝ่ายถูก คู่กรณีต้องมีประกันภัย เพราะหากคู่กรณีไม่มีประกันภัยแล้วอาจจะตกลงกันได้ยาก เพราะคนที่ต้องจ่ายค่าเสียหายคือคู่กรณี ไหนจะค่าซ่อมยังต้องจ่ายค่าขาดประโยชน์แบบนี้อาจจะตกลงกันได้ยาก ขึ้นอยู่กับว่าคู่กรณีจะจ่ายหรือไม่ แต่หากคู่กรณีมีประกันภัยการติดต่อประสานงานจะเป็นไปได้มากกว่า เพราะ คปภ.กำหนดมาตรการนี้ออกมาเพื่อให้ทุกบริษัทประกันภัย ดำเนินการไปในทางเดียวกัน ขั้นตอนของการเรียกร้องค่าขาดประโยชน์มีดังนี้
8.1 เตรียมเอกสารเรียกร้องค่าขาดประโยชน์
- สำเนาใบเคลม
- สำเนาเล่ม
- สำเนาบัตรประชาชน
- สำเนาใบขับขี่
- หน้าสมุดบัญชีออมทรัพย์
- แบบฟอร์มเรียกร้องค่าขาดประโยชน์ (ดาวน์โหลดผ่านอินเทอร์เน็ต)
รายละเอียดในการเขียนแบบฟอร์ม จะมีข้อมูลให้เรากรอกวันที่รถพร้อมซ่อมจนถึงวันรับรถ และระบุว่าในขณะที่เรานำรถเข้าซ่อม ไม่มีรถใช้งานจึงต้องใช้รถสาธารณะ หรือรถอื่นมาทดแทนซึ่งมีค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนเงิน…บาทเช่น ต้องนั่งรถไฟฟ้า,แท็กซี่,รถโดยสารประจำทาง หรือ บริการรถเช่าเพื่อมาทดแทนรถตนเองในขณะเข้าซ่อม เป็นระยะกี่วันคิดเป็นวันละกี่บาท สามารถเขียนบรรยายลงในแบบฟอร์มได้เลย
8.2. ติดต่อบริษัทประกันภัยของคู่กรณี เมื่อเตรียมเอกสารครบแล้วหลังจากนั้นติดต่อไปที่ ฝ่ายสินไหม บริษัทประกันภัยของคู่กรณีเพื่อสอบถามช่องทางการส่งเอกสาร เพื่อให้ทางประกันภัยพิจารณาตามความหมายสมในการชดเชยค่าขาดประโยชน์
จากบทความข้างต้นหวังว่าจะมีประโยชน์กับผู้ใช้รถไม่มากก็น้อย เพราะอย่างน้อยก็ได้ทราบว่าต้องทำอย่างไรเมื่อเกิดอุบัติเหตุ มีสิ่งไหนที่ต้องเตรียมและเมื่อเราเคลมเป็นฝ่ายถูกสิ่งไหนที่สามารถดำเนินการได้ แต่สิ่งที่สำคัญของบทความนี้คือ การทำประกันภัยรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นประเภทไหน ก็ถือว่าเป็นการป้องกันความเสี่ยงที่เราจะต้องมารับผิดชอบเอง ทั้งจ่ายค่าซ่อมรถตัวเอง คู่กรณีและชดเชยค่าขาดประโยชน์อีก คิดดีดียอดก็สูงกว่ายอดที่จะทำประกันชั้น 1 อีก ดังนั้นอย่าปล่อยให้ประกันขาดต่อหรือละเลยการต่อประกันนะคะ ที่สำคัญควรระมัดระวังในการขับขี่ ด้วยความเป็นห่วงจาก โปรประกัน